พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ (KATHU MINING MUSEUM) เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต (PHUKET MINING MUSEUM) เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ ตั้งอยู่ที่ถนนเหมืองท่อสูง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต 83120 จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวและเป็นแหล่งการเรียนรู้ เปิดให้เข้าชมในวันเปิดราชการ เวลา ๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
หลังภาคใต้ประสบภัยสึนามิ จังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้เทศบาลตำบลกะทู้ดำเนินการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามแบบของนางปัญจภัทร(ตูน) ชูราช บนพื้นที่การทำเหมืองแร่ดีบุก(เลิกทำเหมืองแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐) บริเวณเหมืองท่อสูง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นเขตแดนตำบลกะทู้กับบ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นายประเสริฐ ขาวกิจไพศาล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะทู้ได้จัดสรรงบประมาณจัดนิทรรศการภายในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๑
พิธภัณฑ์เหมืองแร่(พมร.)ภูเก็ตจัดนิทรรศการภายในโดยใช้ชื่อ เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง มีห้องแสดงนิทรรศการใน "อังมอเหลา" (ตึกนายหัวเหมืองหรือบ้านเศรษฐี)ไปตามลำดับ คือ โปท้องหง่อก่ากี่ ชินวิถี อัญมณีนายหัวเหมือง เรืองดารากร(กำเนิดโลก กำเนิดแร่ธาตุ กำเนิดชีวิต กำเนิดคน คนใช้ไฟ คนใช้แร่ คนแสวงหาแร่) สายแร่แห่งชีวิต(เหมืองแล่น เหมืองครา เหมืองปล่อง เหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด) นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ ฉลาดนาวาชีวิต ลิขิตปรัชญ์สืบสาน บันซ้านบางเหนียว(ร้านขนมจีน ร้านขายของชำ ร้านโกปีเตี๊ยม ร้านแป๊ะอ๊านต๋อง(ร้านขายยาจีน) ร้านจักสาน) เก่วเกี้ยวในทู(อ๊าม งิ้ว หนังตะลุง) หลงผิดเสพ เทพาภรณ์ คฤหปตานินท์ บาบ๋าสินสมรส ฉายาบทนฤมิต ภาพกิจปฐมเหตุ และวรรณวิเศษปัญญภูมิ
เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง THE GOLDEN DRAGON ISLAND
แสดงภาพอาคารชิโนโปรตุกีสสไตล์ ที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติในยุโรป(มีโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ)ผสมกับประตูแบบจีน ที่มีประตู หน้าต่างและช่องลม เสมือนหนึ่งปาก ตาและคิ้วพญามังกร ส่วนคิ้วพญามังกรสร้างเป็นรูปทรงค้างคาวซึ่งเป็นสัตว์มงคลอย่างหนึ่งของชาวจีนฮกเกี้ยน หน้าประตูเป็นบริเวณสาธารณะที่เจ้าของบ้านพึงดูแลรักษา เรียกว่าหง่อก่ากี่ (อาเขด) มีรถสองแถวตัวถังสร้างด้วยไม้ ชาวภูเก็จชาวในทูเรียกว่ารถ โปท้อง (บางคนเรียก พอท้อง)
สถาปัตยกรรม ชิโนโปร์ตุกีส(SINO-PORTUGUESE STYLE) (ชิโนหมายถึงจีน ส่วนโปรตุกีสหมายถึงยุโรป) สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้นทั้งหลังเดี่ยว(อังมอเหลา)และห้องแถว กำแพงหรือผนังอาคารก่ออิฐฉาบปูนหนาตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้รับน้ำหนักอาคารทั้งหมด(ยุคหลังใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก) การใช้กำแพงรับน้ำหนักนี้ทำให้อาคารมั่นคงแข็งแรง หลังคามีความลาดชัน มุงกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กรูปตัว v วางสลับคว่ำ-หงาย บานประตูหน้าต่างชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นแบบสถาปัตยกรรมจีน มีการแกะสลักลวดลายธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ตามคติความเชื่อของจีน ประตูหน้าต่างและช่องลมประดุจปากตาและคิ้วพญามังกร ช่องแสงเหนือหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเป็นลายลบมุมทั้งสี่จากรูปค้างคาว ส่วนชั้นบนมีหน้าต่างยาวถึงพื้นเรียกหน้าต่างแบบฝรั่งเศส บานหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ปรับมุมได้ ลวดลายตกแต่งผนังเป็นปูนปั้นมักเป็นลายที่มาจากสถาปัตยกรรมยุโรปในยุคนีโอคลาสสิกหรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (RENAISSANCE) มีเสาอิงที่มีลวดลายหัวเสาตามรูปแบบของโรมันและกรีกคลาสสิกหลายชนิด เช่น โครินเธียน(CORINTHIAN) ดอริก(DORIC) ไอโอนิก(IONIC) (ทัสคัน (Tuscan) คอมโพสิต(Composite)) รวมทั้งซุ้มโค้งหน้าต่างมีการตกแต่งลวดลาย เป็นการผสมผสานของหลายยุคศิลปะมารวมไว้ในอาคารเดียวเรียกว่า ECLECTICISM
องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของอาคารแบบชิโนโปรตุกีส คือการมีเฉลียงหรือช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีและป้องกันแดดฝน เรียกว่าหง่อกากี่ (ARCADE)
อาคารสาธารณะแบบชิโนโปรตุกีสที่โดดเด่นคือ สถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่ซึ่งมีหอนาฬิกาอยู่ชั้นบน, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอรด์, พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว, สมาคมภูเก็ตฮกเกี้ยนสามัคคี, โรงแรมออนออน และอาคารเอกวานิช ในส่วนของคฤหาสน์หลังเดี่ยวที่เรียกว่า อังมอเหลา (อังมอ แปลว่าผมแดงคือชาวยุโรป, เหลาแปลว่าตึก) เช่น ตึกพระอร่ามสาครเขตร ตึกพระพิทักษ์ชินประชา ตึกชินประชา ตึกหลวงอนุภาษภูเก็ตการ เป็นต้น
อาคารตึกแถวที่มีหง่อก่ากี่เยี่ยมชมได้ที่เมืองทุ่งคาคือถนนถลาง ถนนพังงา ถนนเทพกระษัตรีบริเวณแถวน้ำ ถนนภูเก็ต ถนนเยาวราช หากต้องการชื่นชมบานประตูสุดสวยต้องดูที่ตึกแถวถนนดีบุก ด้วยการเดินชม นั่งรถตุ๊ก ๆ หรือเช่ารถโปท้องชมเมืองก็ควรค่าแก่ประสบการณ์ตน
